วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2562

บทคัดย่อวิทยานิพนธ์ เรื่อง แนวทางการพัฒนาการจัดการศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (GUIDELINES FOR THE DEVELOPING MANAGEMENT OF CHULALONGKORN UNIVERSITY SPORTS CENTER)

thesis.grad.chula.ac.th/readfile1.php?fn=ab5478338939.doc
ศโรธร เร่งสมบูรณ์สุข : แนวทางการพัฒนาการจัดการศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (GUIDELINES FOR THE DEVELOPING MANAGEMENT OF  CHULALONGKORN UNIVERSITY SPORTS CENTER) . ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก : รศ.เทพประสิทธิ์ กุลธวัชวิชัย, 245 หน้า.

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาการจัดการศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยใช้แบบสำรวจ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และแบบประเมิน ในการเก็บข้อมูล จากกลุ่มตัวอย่างที่เลือกโดยวิธีการเลือกแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) ได้แก่ กลุ่มเจ้าหน้าที่ จำนวน 20 คน กลุ่มผู้บริหาร จำนวน 2 คน กลุ่มคณะกรรมการบริหารศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 2 คน และกลุ่มตัวอย่างเป็นสมาชิกของศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 400 คน นำผลที่ได้มาวิเคราะห์ค่าทางสถิติ โดยหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการจัดการศูนย์กีฬา ทั้งภายในและภายนอกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมเป็นจำนวน 6 คน ประเมินแนวทางด้วยค่าดัชนีความสอดคล้องระหว่างข้อคำถามกับวัตถุประสงค์ (Index Objective-Item Congruence: IOC)
ผลการวิจัย พบว่า แนวทางการพัฒนาศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีดังนี้
ทรัพยากรในการจัดการ
1. ด้านการจัดการมนุษย์หรือบุคคล ได้แก่ ศูนย์กีฬาแห่งจุฬาฯ ต้องมีเจ้าหน้าที่ในองค์กรที่มีความรู้ ในหน้าที่ที่ตนเองรับผิดชอบ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีในการดำเนินงาน และมีขอบเขตหน้าที่การทำงานที่ชัดเจน
2. ด้านการจัดการการเงินและงบประมาณ ได้แก่ ศูนย์กีฬาแห่งจุฬาฯ ต้องมีการชี้แจงและแจกแจงรายละเอียดของงบประมาณที่บริหาร และมีค่าสมัครสมาชิกที่มีความเหมาะสม
3. ด้านการจัดการวัตถุดิบ ได้แก่ ศูนย์กีฬาแห่งจุฬาฯ ต้องมีสนามและอุปกรณ์กีฬาอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและมีความปลอดภัย และมีที่จอดรถที่เพียงพอและสะดวกต่อการเข้าใช้
4. ด้านการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่ ศูนย์กีฬาแห่งจุฬาฯ ต้องมีเว็บไซต์มีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ที่องค์กรจัดขึ้น มีข้อมูลที่ทันต่อเหตุการณ์ และในการเข้าใช้ต้องมีความรวดเร็ว
กระบวนการจัดการ
1. ด้านการวางแผน ได้แก่ ศูนย์กีฬาแห่งจุฬาฯ ต้องมีนโยบายและแผนพัฒนางาน สอดคล้องกับแผนนโยบายของจุฬาฯ วัตถุประสงค์ของศูนย์กีฬาแห่งจุฬาฯ และมีการกำหนดแผนระยะสั้นและระยะยาว
2. ด้านการปฏิบัติ ได้แก่ ศูนย์กีฬาแห่งจุฬาฯ ต้องให้บริการเพื่อประโยชน์ด้านการเรียน การสอนและการวิจัยของมหาวิทยาลัย มีการให้บริการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพแก่สมาชิกของศูนย์กีฬาแห่งจุฬาฯ และประชาชนทั่วไป
3. ด้านการตรวจสอบ ได้แก่ ศูนย์กีฬาแห่งจุฬาฯ ต้องมีการประเมินผลในการให้บริการด้านกีฬาแก่สมาชิก มีการติดตามความคืบหน้าของงานเป็นระยะ เพื่อให้แน่ใจว่างานได้รับการปฏิบัติไปอย่างไร มีการประเมินผลการปฏิบัติงานตามแผนและวัตถุประสงค์ของศูนย์กีฬาแห่งจุฬาฯ
4.ด้านการปรับปรุง ได้แก่ ศูนย์กีฬาแห่งจุฬาฯ ต้องมีการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถ ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการวางแผนการปรับปรุงการปฏิบัติงาน การจัดวัสดุอุปกรณ์รวมถึงสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติงานให้เหมาะสมกับยุคสมัย

สาขาวิชา     วิทยาศาสตร์การกีฬา        ลายมือชื่อนิสิต……………………………………..
ปีการศึกษา                2555                   ลายมือชื่อ อ.ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก……………

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น