วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2562

บทคัดย่อวิทยานิพนธ์ ภาษาไทย เรื่องการศึกษาการบริหารโครงการมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (A STUDY OF THE ADMINISTRATION OF CHULALONGKORN UNIVERSITY HEALTH PROMOTION PROJECT)

http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/52003
เอกฉัตร  คลี่ขจาย : การศึกษาการบริหารโครงการมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.         (A STUDY OF THE ADMINISTRATION OF CHULALONGKORN UNIVERSITY HEALTH PROMOTION PROJECT)         อ.ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก รศ.เทพประสิทธิ์ กุลธวัชวิชัย, 155 หน้า

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการบริหารโครงการมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในด้านทรัพยากรบริหาร กระบวนการบริหาร และผลการดำเนินงานของโครงการบ้านนี้มีสุข ระยะที่ 1 และโครงการบ้านนี้มีสุข กำลัง 2 ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพโดยการสังเคราะห์เอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การสัมภาษณ์และการสำรวจ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการสัมภาษณ์เป็น คณะกรรมการบริหารโครงการบ้านนี้มีสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 2 คน และคณะทำงานภายในโครงการมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งโครงการบ้านนี้มีสุข ระยะที่ 1 จำนวน 43 โครงการ และบ้านนี้มีสุขกำลัง 2 จำนวน 41 โครงการ เลือกโครงการละ 1 คน รวม 84 คน และใช้แบบสำรวจเชิงประจักษ์ ซึ่งผู้วิจัยเป็นผู้ศึกษาด้วยตนเอง นำข้อมูลที่ได้ทำการวิเคราะห์ และสังเคราะห์เนื้อหาตามประเด็นที่ศึกษามานำเสนอในรูปแบบความเรียง
                ผลการวิจัยพบว่า
การบริหารโครงการมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า
1. ทรัพยากรบริหาร ประกอบด้วย ด้านบุคลากร มีจำนวนเพียงพอ มีความรู้และความเชี่ยวชาญในงาน ด้านการเงินและงบประมาณ มีงบประมาณเพียงพอจนเสร็จสิ้นโครงการ ด้านสถานที่ วัสดุอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวก มีจำนวนเพียงพอ มีความสะดวกสบาย และมีคุณภาพ และด้านการจัดการ มีการวางแผนการดำเนินงาน จัดทำแผนงาน และควบคุมให้เป็นไปตามแผนงาน
2. กระบวนการบริหารโครงการ มีการดำเนินงานดังนี้ การวางแผน มีการวางแผนการปฏิบัติงานไว้อย่างชัดเจนและเป็นระบบ การจัดองค์กร มีการกำหนดโครงสร้าง และหน้าที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน การบริหารบุคคล มีการคัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถให้ตรงกับงานที่ทำ การอำนวยการ มีการสั่งงานเป็นลายลักษณ์อักษรสำหรับหน้าที่หลัก และสั่งงานด้วยวาจาในงานเร่งด่วน และการควบคุม มีการควบคุมตรวจสอบการทำงานให้ตรงตามแผนการดำเนินงานที่วางไว้ รายงานความก้าวหน้าของโครงการเป็นระยะ และประเมินผลการดำเนินงานเมื่อสิ้นสุดโครงการ
3. ผลการดำเนินงานของโครงการบ้านนี้มีสุข ระยะที่ 1 สอดคล้องกับความต้องการด้านสุขภาพของกลุ่มเป้าหมาย และบรรลุตามเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้ แต่พบว่ายังมีปัญหาด้านข้อมูลสุขภาพในการกำหนดทิศทางการสร้างเสริมสุขภาพ การบริหารงบประมาณ การติดต่อประสานงานหน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัย การประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง ระยะเวลาในการดำเนินงานไม่เพียงพอ และความร่วมมือของหน่วยงาน ชุมชนรอบมหาวิทยาลัย ส่วนผลการดำเนินงานของโครงการบ้านนี้มีสุข กำลัง 2 ประสบผลสำเร็จในการเป็นต้นแบบมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพผ่านระบบงานของมหาวิทยาลัย ส่งผลต่อความยั่งยืนของความเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ
ทรัพยากรบริหารและกระบวนการบริหารสามารถทำให้โครงการบรรลุผลได้อย่างมีประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยผลการดำเนินงานโครงการประสบความสำเร็จในการพัฒนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ และเป็นที่พึงพอใจแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ เมื่อสิ้นสุดโครงการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเป็นแบบอย่างการดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพให้กับสถาบันอุดมศึกษาอื่น

สาขาวิชา       วิทยาศาสตร์การกีฬา                         
ลายมือชื่อนิสิต                                                                              
ปีการศึกษา               2554                                       
ลายมือชื่อ อ. ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก                                             


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น