วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2562

บทคัดย่อวิทยานิพนธ์ เรื่องนวัตกรรมการออกแบบห้องสมุดสารนิเทศสารานุกรมไทยต้นแบบ จ.นครราชสีมา (INNOVATIVE DESIGN PROTOTYPE FOR ENCYCLOPEDIA LIBRARY INFORMATION, NAKHON RATCHASIMA)

thesis.grad.chula.ac.th/readfile1.php?fn=ab5274105025.doc
เจนจิรา นาเมืองรักษ์ : นวัตกรรมการออกแบบห้องสมุดสารนิเทศสารานุกรมไทยต้นแบบ จ.นครราชสีมา (INNOVATIVE DESIGN PROTOTYPE FOR ENCYCLOPEDIA LIBRARY INFORMATION, NAKHON RATCHASIMA) อ.ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก: ศ.ดร. สุนทร บุญญาธิการ, 147 หน้า.
ห้องสมุดเป็นสถานที่ที่สำคัญต่อประชาชนมากในด้านความรู้ ห้องสมุดทุกวันนี้โดยทั่วไปเป็นเพียงแต่สถานที่นั่งอ่าน และยืมคืนหนังสือเท่านั้น ผู้วิจัยมีความเห็นว่าห้องสมุดแห่งนี้จะสามารถพัฒนาได้มากกว่าด้วยการออกแบบ จึงเป็นที่มาของการวิจัยเรื่อง นวัตกรรมการออกแบบห้องสมุดสารนิเทศสารานุกรมไทยต้นแบบ จ.นครราชสีมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะความต้องการของห้องสมุดสาธารณะชุมชน ศึกษาปัจจัยด้านความสบายที่มีผลต่อการออกแบบห้องสมุดที่มีประสิทธิภาพในการใช้งาน วิเคราะห์ปัจจัย และความต้องการ เพื่อกำหนดตัวแปรในการออกแบบ และก่อสร้างอาคารห้องสมุดให้เกิดเป็นนวัตกรรม และออกแบบ ก่อสร้างอาคารห้องสมุดต้นแบบด้วยนวัตกรรมที่ยั่งยืน ประหยัดพลังงาน มีประสิทธิภาพด้านการใช้งานสูง ตอบความต้องการของชุมชน  โดยมีวิธีการศึกษาคือ จะสำรวจความต้องการของห้องสมุดสาธารณะจากแหล่งต่างๆ สัมภาษณ์ผู้มีประสบการณ์โดยตรง และวิเคราะห์บทความของผู้เชี่ยวชาญ ศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวกับสภาวะน่าสบายในด้านที่มีผลต่อการออกแบบห้องสมุดที่มีประสิทธิภาพด้านการใช้งาน นำผลการศึกษาด้านปัจจัยด้านความสบายในการออกแบบอาคาร และผลการศึกษาลักษณะความต้องการของห้องสมุดสาธารณะชุมชนมาวิเคราะห์ เพื่อกำหนดเป็นตัวเแปรในการออกแบบ และก่อสร้างอาคารห้องสมุดต้นแบบ  
จากผลการวิจัยพบ ตัวแปรในการออกแบบให้เกิดเป็นนวัตกรรมคือ การเลือกใช้วัสดุเปลือกอาคารที่มีคุณสมบัติในการต้านทานความร้อนสูง นำความเย็นจากดินมาใช้ให้เป็นประโยชน์  การออกแบบช่องแสงให้สามารถใช้แสงธรรมชาติได้อย่างมีคุณภาพ การออกแบบที่ส่งเสริมรายได้แก่ห้องสมุด ดูแลรักษาง่ายไม่เป็นภาระต่อชุมชน ผลสรุปนวัตกรรมการออกแบบที่เกิดขึ้นคือนวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากดิน นวัตกรรมการใช้แสงอย่างมีกำไร นวัตกรรมการออกแบบอาคารพ่วงแหล่งรายได้ นวัตกรรมการเลือกรูปทรงอาคาร นวัตกรรมเทคนิค และวิธีการก่อสร้าง นวัตกรรมการเลือกใช้วัสดุ
การออกแบบห้องสมุดสาธารณะโดยการนำเอานวัตกรรมที่เกิดจากการวิจัยนี้มาใช้อย่างถูกหลัก และเป็นไปตามแบบแผน อาคารจะมีอุณหภูมิอากาศภายในได้เฉลี่ย 27o C โดยยังไม่ใช้ระบบปรับอากาศ  ความเข้มแสงพอเหมาะ และเพียงพอตามมาตรฐาน ไม่เกิดมุมมองที่มีแสงจ้า และหากเปรียบเทียบกับอาคารห้องสมุดที่ออกแบบก่อสร้างด้วยระบบทั่วไป จะพบว่าสามารถประหยัดพลังงานที่ใช้ในการทำความเย็นต่อพื้นที่ใช้สอยของอาคารได้ถึง 11 เท่าตัว สร้างได้รวดเร็วกว่าระบบการก่อสร้างทั่วไปถึง 7 เท่าตัว ลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างได้ถึง 35% มีรายรับเข้าสู่ห้องสมุดมากกว่ารายจ่ายมากกว่า 1 เท่าตัว ทำให้เป็นห้องสมุดที่ยั่งยืน อยู่ได้ด้วยตัวเอง มีประสิทธิภาพด้านการใช้งาน ประหยัดพลังงาน ตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง คู่ควรในการเป็นอาคารต้นแบบในการสร้างห้องสมุดสาธารณะคุณภาพในสถานที่อื่นๆ อีกต่อไป


ภาควิชา .........สถาปัตยกรรมศาสตร์...... ลายมือชื่อนิสิต..............
สาขา .....สถาปัตยกรรม...ลายมือชื่อ อ.ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก........
ปีการศึกษา .................2553.....................


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น